สรุปรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2020 ของ Square Enix





สรุปรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2020 ของ Square Enix (นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2020 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2021)

ท้าวความเดิม ปีงบประมาณ 2019 ที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรสุทธิ 21,346 ล้านเยน ขณะที่ในปีล่าสุด ผลประกอบการประจำปี 2020 มีกำไร 26,942 ล้านเยน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 26.2% ในขณะที่ Operating Income และ Ordinary Income ได้เพิ่มขึ้น 44.2% และ 55.7% ตามลำดับ โดยมีเงินปันผล 225.75 เยนต่อหุ้น สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งได้ 179.02 เยนต่อหุ้น

เรียกได้ว่าเป็นปีที่ Square Enix มีรายได้และกำไร สูงที่สุดในประวัติศาสตร์!!

ทีนี้เมื่อแยกตามประเภทธุรกิจในเครือ ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประเภทแล้ว จะแจงผลประกอบการได้ดังนี้

1. ธุรกิจสื่อบันเทิง (เกมนั่นแหละ)

Net Sales จากธุรกิจเกมปีนี้อยู่ที่ 263,909 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ 188,687 ล้านเยนอยู่ 39.86%
ส่วน Operating Income อยู่ที่ 50,536 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ 35,357 ล้านเยนถึง 42.93%

โดยในหมวดนี้จะประกอบไปด้วยธุรกิจเกม HD, Social Gaming, PC Browser, Smart Device และ MMO ในที่นี้ทางค่ายได้เรียงรายชื่อเกมที่สร้างรายได้ให้แก่ทางค่ายได้อย่างโดดเด่นเกินคาดในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายนามดังนี้


หมวดเกม HD (เกมคอนโซล)

ปีนี้เกมคอนโซลทำรายได้ให้ทางค่าย 96,600 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งทำได้ 42,000 ล้านเยน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 128.90% โดยทางค่ายอธิบายประกาศเกียรติคุณว่าเป็นคุณความดีของ FFVII Remake, Trials of Mana, Marvel's Avengers และ Bravely Default II และเกมเก่าทั้งหลายที่ขายแบบดิจิทัลได้อย่างเทน้ำเทท่า


หมวดเกม MMO

ปีนี้เกม MMO ของค่ายทำรายได้ 39,800 ล้านเยน สูงกว่ากว่าปีที่แล้วซึ่งทำได้ 40,100 ล้านเยน นับว่าลดลง 0.74% ซึ่งแม้ไม่ได้มีการออก Expansion ใหม่ของเกม Final Fantasy XIV และ Dragon Quest X แต่ก็ยังเก็บค่าบริการหลายเดือนจากผู้เล่นได้อย่างสม่ำเสมอ


หมวดเกม Smart Device และ PC Browser

ปีนี้รายได้จากเกมมือถืออยู่ที่ 127,400 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งทำได้ 106,400 ล้านเยน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 19.73 % เป็นอีกครั้งที่รายได้จากเกมหมวดมือถือทำลายสถิติเก่าลงได้อย่างราบคาบ ซึ่งทางค่ายก็ยกเครดิตให้แก่เกมเก่า Dragon Quest Walk, War of the Visions: Final Fantasy Brave Exvius และพวกที่ออกใหม่อย่าง Dragon Quest Tact, Octopath Traveler: Tairiku no Hasha และ NieR Re[in]carnation


ยอดขายเกมตามโซนต่าง ๆ ในปีงบประมาณที่ผ่านมา

*ตรงนี้มีประเด็นน่าสนใจว่า หมายเหตุที่กำกับไว้ในสไลด์หน้านี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากทุกปีที่ผ่านมา โดยเดิมจะเขียนว่ายอดขายแผ่น นับจากยอด Shipment ส่วนยอดดาวน์โหลด นับเฉพาะเกมที่วางจำหน่ายภายใน 2 ปีงบประมาณล่าสุด

**แต่ปีนี้ แม้ยอดขายแผ่นไม่ได้บอกว่าเป็นยอด Shipment แต่ก็เป็นยอด Shipment นั่นแหละเพราะเขาไม่เปลี่ยนยอดขายแผ่นของปีที่ผ่านมา ส่วนยอดดาวน์โหลด เขาเปลี่ยนจากเดิมที่นับแต่เกมที่วางจำหน่ายภายใน 2 ปีงบประมาณล่าสุด เป็นนับรวมเกมที่วางจำหน่ายมานานเกินกว่า 2 ปีด้วย ทำให้ตัวเลขยอดขายกมดาวน์โหลดปีที่ผ่านมาถูกแก้ไขให้สูงขึ้น

โซนญี่ปุ่น
ยอดขายแผ่น : 2.62 ล้านแผ่น (ปีก่อน 1.60)
ยอดขายดิจิทัล : 3.67 ล้านหน่วย (ปีก่อน 2.42, นับแบบเก่า 1.58)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 6.30 ล้านหน่วย (ปีก่อน 4.02, นับแบบเก่า 3.18)

*แน่นอนว่าเพราะผลบุญของ FFVII Remake เต็ม ๆ อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ฝั่งญี่ปุ่นมียอดขายเกมดิจิทัล สูงกว่ายอดขายเกมแผ่นแล้ว!!

โซนอเมริกาเหนือและยุโรป
ยอดขายแผ่น : 7.16 ล้านแผ่น (ปีก่อน 4.88)
ยอดขายดิจิทัล : 31.43 ล้านหน่วย (ปีก่อน 19.58, นับแบบเก่า 8.41)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 38.59 ล้านหน่วย (ปีก่อน 24.46, นับแบบเก่า 13.29)

*ยอดขายเกมแบบแผ่นของโซนอเมริกาเหนือและยุโรป เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายดิจิทัล ก้าวกระโดด ทิ้งยอดขายแผ่นแบบไม่เห็นฝุ่นแล้ว

โซนเอเชียและอื่น ๆ
ยอดขายแผ่น : 0.51 ล้านแผ่น (ปีก่อน 0.78)
ยอดขายดิจิทัล : 4.51 ล้านหน่วย (ปีก่อน 4.16, นับแบบเก่า 0.84)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 5.01 ล้านหน่วย (ปีก่อน 4.94, นับแบบเก่า 1.62)

*ยอดขายดิจิทัลทิ้งยอดขายแผ่นไปแบบไม่เห็นฝุ่นเช่นกัน

รวมทั้งหมด
ยอดขายแผ่น : 10.29 ล้านแผ่น (ปีก่อน 7.26)
ยอดขายดิจิทัล : 39.60 ล้านหน่วย (ปีก่อน 26.16, นับแบบเก่า 10.83)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 49.90 ล้านหน่วย (ปีก่อน 33.42, นับแบบเก่า 18.09)

ด้วยการที่จู่ ๆ ทางค่ายก็มาเปลี่ยนวิธีนับยอดขายดิจิทัลใหม่ในปีนี้ ทำให้ไม่สามารถเอายอดขายเกมในปีนี้ไปเปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2018 และปีก่อนหน้านั้นได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตามปีงบประมาณ 2020 ก็เป็นปีที่ทางค่ายทำยอดขายเกมได้สูงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2019 ถึง 49.31% (เมื่อนับแบบใหม่ทั้ง 2 ปี)


รายได้จากการขายเกม HD

ปีงบประมาณ 2010 - 42,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 49,000 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 55,600 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 47,300 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 44,400 ล้านเยน (ช่วงนี้หดตัวต่อเนื่องมา 2 ปี)
ปีงบประมาณ 2015 - 58,500 ล้านเยน (ปีนี้ กลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว)
ปีงบประมาณ 2016 - 92,800 ล้านเยน (เพิ่มขึ้นเพราะ FFXV + NieR: Automata + WoFF + Rise of Tomb Raider จนทำให้รายได้หมวดนี้แซงรายได้เกมมือถืออีกครั้ง)
ปีงบประมาณ 2017 - 65,600 ล้านเยน (ออกเกมฟอร์มยักษ์น้อย รายได้เลยตก มี DQXI เป็นหลัก)
ปีงบประมาณ 2018 - 93,500 ล้านเยน (กลับมาสูงขึ้นด้วย Kingdom Hearts III)
ปีงบประมาณ 2019 - 42,000 ล้านเยน (แทบไม่มีเกมฟอร์มยักษ์ใหม่ ๆ ออก และ FFVIIR เลื่อน)
ปีงบประมาณ 2020 - 96,600 ล้านเยน (FFVII Remake + Marvel's Avengers)

รายได้จากเกมบน Smart Device และ PC Browser

ปีงบประมาณ 2010 - 12,900 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 16,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 22,700 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 27,200 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 44,200 ล้านเยน (พัฒนาจนสร้างรายได้เท่าเกม HD)
ปีงบประมาณ 2015 - 68,800 ล้านเยน (ทำรายได้แซงหน้าเกม HD ไปแล้ว)
ปีงบประมาณ 2016 - 83,300 ล้านเยน (เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดันโดนยอดขายเกม HD แซงคืน
ปีงบประมาณ 2017 - 93,800 ล้านเยน (ยังคงโตวันโตคืน)
ปีงบประมาณ 2018 - 83,800 ล้านเยน (ลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์)
ปีงบประมาณ 2019 - 106,400 ล้านเยน (มันกลับขึ้นไปอีกแล้ว)
ปีงบประมาณ 2020 - 127,400 ล้านเยน (ทำสถิติใหม่อีกแล้ว)

รายได้จากเกม MMO

ปีงบประมาณ 2010 - 9,200 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 6,800 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 11,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 20,000 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 23,300 ล้านเยน (ทำรายได้แค่ครึ่งหนึ่งของเกม HD และ Smart Device)
ปีงบประมาณ 2015 - 31,600 ล้านเยน (ยังคงทำรายได้เท่ากับครึ่งหนึ่งของเกม HD)
ปีงบประมาณ 2016 - 22,700 ล้านเยน (ลดลง โดยให้เหตุผลเพราะ FFXIV และ DQX ยังไม่ออกภาคเสริม ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดไว้แต่แรกว่าจะลดลง)
ปีงบประมาณ 2017 - 31,800 ล้านเยน (เพิ่มขึ้น เพราะ Expansion ใหม่ของ FFXIV และ DQX)
ปีงบประมาณ 2018 - 27,100 ล้านเยน (ลดลง เพราะไม่มี Expansion ใหม่ออก แต่รายได้จากค่าเล่นเกมรายเดือน ยังคงมีสภาพคล่องอยู่)
ปีงบประมาณ 2019 - 40,100 ล้านเยน (เพิ่มขึ้น เพราะ Expansion ใหม่ของ FFXIV และ DQX)
ปีงบประมาณ 2020 - 39,800 ล้านเยน (ลดลงเล็กน้อย ทั้งที่ไม่มีการออก Expansion ใหม่)



ในภาพรวมแล้วปีงบประมาณ 2020 มีรายได้จากหมวดสื่อบันเเทิงรวมกัน 263,909 ล้านเยน ถือได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่

2. ธุรกิจเครื่องเล่น (เกมตู้)

รายได้ตกลงจากปีก่อน 24.8% เป็น 34,349 ล้านเยน

รายได้ตกอย่างวายป่วง เพราะถิ่นรวมเครื่องเล่นทั้งหลาย ต่างต้องหยุดดำเนินธุรกิจชั่วคราวตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกมาตรการให้ปิดบริการเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

3. ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือการ์ตูน คู่มือเกม นิตยสารต่าง ๆ

รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 38.0% คิดเป็น 26,843 ล้านเยน

4. ธุรกิจสินค้าจากตัวละคร เพลงประกอบเกม แก้วน้ำ

รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.2% เป็น 9,452 ล้านเยน
โดยสินค้าหลักคือ OST FFVII Remake ~Special Edit version~, ฟิกเกอร์ Play Arts Kai Final Fantasy VII Hardy Daytona & Cloud Strife, ฟิกเกอร์ 2B

--------------------------------------------

ทั้งนี้ทางค่ายประเมินว่าในปีงบประมาณ 2021 ทางค่ายจะมีรายได้และกำไรที่ลดลงเล็กน้อย ซึ่งก็สมเหตุสมผลเมื่อคิดจากการที่ปี 2020 เป็นปีที่ทางค่ายทำรายได้และกำไรสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไปแล้ว อย่างไรก็ตามทางค่ายก็ประเมินว่าในปีงบประมาณ 2023 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2024) ทางค่ายจะทุบสถิติ สร้างรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์อีกครั้ง หมายความว่ามีแผนจะออกเกมฟอร์มยักษ์ระดับอุกกาบาตถล่มโลกในปีงบประมาณ 2023 นั่นเอง

สรุปสุดท้าย

ปีงบประมาณ 2013 กำไรสุทธิ 6,598 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 กำไรสุทธิ 9,831 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2015 กำไรสุทธิ 19,884 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 11,000 - 18,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2016 กำไรสุทธิ 20,039 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 17,000 - 21,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2017 กำไรสุทธิ 25,821 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 16,500 - 19,500 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2018 กำไรสุทธิ 19,373 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 21,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2019 กำไรสุทธิ 21,346 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 16,800 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2020 กำไรสุทธิ 26,942 ล้านเยน (ไม่ได้คาดการณ์ไว้)
ปีงบประมาณ 2021 คาดว่าจะมีกำไร 24,000 ล้านเยน

สำหรับสรุปรายงานฯ ของปีก่อน อ่านได้จากลิงค์ด้านล่างนี้

เอกสารประกอบ

ไม่มีความคิดเห็น